อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ หนองบัวลำภู 
[Phu Kao Phu Phan Kham National Park]

Phu Kao Phu Phan Kham National Park แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มครอบครัว/กลุ่มวัยทำงาน/กลุ่มนักเรียนนักศึกษา/เยาวชน/วัยรุ่น/


เปิดGoogle map

อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ ตั้งอยู่ในท้องที่ของจังหวัดหนองบัวลำภู และพื้นที่ตอนบนของจังหวัดขอนแก่น อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ มีที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ริมทางหลวงสาย 2146 (โนนสัง อุบลรัตน์) มีเนื้อที่ประมาณ 322 ตารางกิโลเมตร หรือ 201,250 ไร่ มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ ภูพานคำ และ ภูเก้า ภูพานคำ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ กินพื้นที่ของอุทยานฯ ประมาณครึ่งหนึ่งของส่วนภูพานคำ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นดินปนหิน นักท่องเที่ยวมักจะนิยมมาพักแรมโดยการกางเต็นท์แคมป์ปิ้ง หรือที่บ้านพักของอุทยานฯ หรือที่ศาลาพักแรมของกรมประชาสงเคราะห์ บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งตกปลาที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยอีกด้วย ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อนมาก มีสัณฐานคล้ายกับกระทะหงายโดยมีที่ราบอยู่ตรงกลาง เทือกเขาภูเก้าเป็นเทือกเขาสองชั้น ชั้นนอกเป็นภูเขาสูงและมีความลาดชันมาก ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันไม่มากนัก พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะ สูงๆ ต่ำ ๆ บางแห่งเป็นที่ราบประกอบด้วยป่าไม้ มีสัตว์ป่านานาชนิด ถ้ำ น้ำตก ลานหินลาด และหินลักษณะแปลกตา มีภาพเขียนรูปฝ่ามือแดง และภาพแกะสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีศาลาบนยอดหินที่มีความสูงกว่า 30 เมตร ที่เรียกว่า “หอสวรรค์” สามารถเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น มองเห็นทิวทัศน์ของที่ราบจังหวัดหนองบัวลำภู และผืนป่าเขียวขจีของอุทยานแห่งชาติกว้างไกลออกไปจนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ นอกจากนี้บริเวณภูเก้ายังมีวัดพระพุทธบาทภูเก้า ซึ่งปรากฏรอยเท้าคน และรอยเท้าสุนัขขนาดใหญ่สลักบนหิน อันเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง และตามผนังถ้ำบริเวณวัดยังมีภาพเขียนสี ภาพสลักสมัยก่อนประวัติศาสตร์ให้ได้ชมอีกด้วย

 Visitor:21