ตลาดท่าเรือคลองคาง เริ่มจากแนวคิดจากวัดคลองคางซึ่งนำโดยพระปลัดสุทัศน์ ธมฺมธีโป มีความประสงค์ให้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีพื้นที่ในการทำอาชีพ ซึ่งประจวบเหมาะเดิมพื้นที่ตลาดเป็นท่าเรือเก่ามาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ คู่กับวัดคลองคาง โดยบริเวณนั้นมีท่าเรือ 2 ท่า คือ ท่าตาเรือง กับท่าตาเชิง ต่อมาประมาณปี 2510 เกิดท่าเรือนางทองอยู่ เพิ่มขึ้น ประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงใช้เรือในการโดยสาน บริเวณด้านข้างท่าเรือเป็นพื้นที่ป่ารกล้าง และจะมีแบ่งส่วนในการปลูกผักบ้างเป็นครั้งคราว ต่อมาเมื่อปี 2535 ได้มีการก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์ โดยผญ.บุญรอด ภู่โพธิ์ แต่ก็ไม่ได้มีการใช้งานจริงจัง จึงทำให้อาคารเสื่อมโทรมลง หลังจากนั้นได้มีการสร้างสะพานนิมมานรดี ป้อมหนึ่ง นครสวรรค์ เพื่อให้สะดวกต่อการจราจรมากขึ้น แล้วเสร็จเมื่อปี 2553 จึงทำให้ประชาชนในชุมชนเดินทางข้ามสะพานแทน จึงทำให้การเดินทางโดยสารโดยเรือ ห่างหายมาจนถึงปัจจุบันจากนั้น วัดคลองคาง ร่วมวางแผนกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ น้อมนำศาสตร์พระราชาพัฒนาชุมชนเข้มแข็งตามรอยพระราชดำริ จึงเริ่มต้นด้วยการดำเนินการวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนตำบลบึงเสนาทเพื่อค้นหา อัตลักษณ์ของชุมชน พบว่า ในพื้นที่มีจุดเด่นในเรื่องของบึงเสนาทที่มีปลาจำนวนมาก มีการปลูกผัก หลากหลายชนิด ตลอดจนวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นท่าเรือ จึงเกิดความสนใจที่จะพลิกฟื้นท่าเรือให้เป็นตลาด และให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริมเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจที่ดีของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนกระทั่งคนในชุมชนร่วมมือกันปรับปรุงพื้นที่ อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และฟื้นฟูวิถีความเป็นท่าเรือ พัฒนาจนกลายเป็นตลาดท่าเรือคลองในปัจจุบัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสความคงเอกลักษณ์ของตลาดพื้นบ้านแห่งนี้ ตลาดท่าเรือคลองคาง เปิดให้บริการช่วงกลางเดือนเมษายน โดยนักท่องเที่ยวทั้งจากคนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ชาวนครสวรรค์ รวมถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ให้การตอบรับดีมาก โดยได้มีการแบ่งเป็น โซน ผักสีเขียว และโซนอาหาร ในตลาดมีการตกแต่งตลาดสไตล์เก่า คงความเป็นเอกลักษณ์ท่าเรือ ดึงให้ตลาดเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากได้ความร่วมมือที่ดีจากพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งอาหารส่วนใหญ่จะคงความเป็นพื้นบ้าน และอาหารทั่วไป ที่รักษาคุณภาพและพัฒนาคุณภาพอาหารให้ดียิ่งขึ้น โดยตลาดท่าเรือคลองคางจะช่วยกันเน้นใช้วัสดุใส่อาหารจากธรรมชาติ ซึ่งลักษณะของบรรจุภัณฑ์ยังคงความเป็นท่าเรืออีกด้วย อย่างเช่น ชะลอมเล็ก กระบอกน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ จักสานรูปเรือ เครื่องปั้นดินเผา เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ