"เมืองโบราณบ้านคูบัว ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว เป็นโบราณสถานที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างซึ่งชี้ให้เห็นว่า ดินแดนราชบุรีแห่งนี้ เคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัวได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมามากกว่า 1,000 ปี ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่าง ๆ ที่ค้นพบโดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองโบราณบ้านคูบัวพบหลักฐานกระจัดกระจายทั่วบริเวณหลายแหล่ง อาทิ โบราณสถานวัดโขลง ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวัดโขลงสุวรรณคีรี ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางทิศใต้ตามถนนท้าวอู่ทองประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศเหนือและด้านใต้ด้านละ 3 มุข ทางด้านตะวันออกมีมุขยื่นออกมาเป็นบันไดทางขึ้น ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน มีมุขยื่นออกมาจากฐานด้านข้างด้านละ 3 มุม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นอิฐก่อเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมประดับ ปูนปั้นรูปบัวฟันยักษ์ ชั้นถัดไปเป็นฐานหน้ากระดานรองรับซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหนือขึ้นไปเป็นเสาอิงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ระหว่างเสาเจาะเป็นซุ้มจระนำยอดแหลมสลับกับเสาอิงไปตลอดผนัง ส่วนบนของฐานโบราณสถานเป็นลานประทักษิณ ในการขุดแต่งได้พบปูนปั้นรูปเศียรเทวดา คนแคระ เชิงเทียนสำริดและลวดลายปูนปั้นอื่น ๆ โบราณสถานหมายเลข 8 ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนวัดคูบัว มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 20.80 เมตร ความสูง 5.40 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอปูน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมโดยรอบ ด้านบนเป็นลานประทักษิณ ชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ มีฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานซึ่งมีซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กรององค์เจดีย์ มีร่องรอยของปูนฉาบ ที่ฐานบัวโค้งแต่ไม่ปรากฏร่องรอยการประดับประติมากรรมปูนปั้น"